1635206 การจัดการข้อมูลและศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น
Information Management and Local Information Centers
3(2-2)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
กรุงเทพมหานคร

chumpot@hotmail.com

สภาพการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นในปัจจุบัน
Local Information Center Management

ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ในสภาพสังคมข่าวสารปัจจุบัน เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้ของท้องถิ่นทุกประเภท ตลอดจน ภูมิปัญญาต่าง ๆ ของท้องถิ่นนั้น ๆ

ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่นจึงมีบทบาทเหมือนกับห้องสมุดเฉพาะสำหรับชุมชน หรือ ห้องสมุดประชาชน ซึ่งผู้ให้บริการข้อมูลต้องจัดหาข้อมูลที่ชุมชนต้องการ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นสำคัญ

รูปแบบของศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น

ในปัจจุบัน ประเทศชาติมีปัญหาภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งด่วนในการที่จะแก้ปีญหาของประเทศ จึงพยายามที่จะกระตุ้นให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งขึ้น และต้องการให้ท้องถิ่นมีการพึ่งตนเองให้มากขึ้น โดยรัฐบาลจะกระจาย อำนาจในการปกครองตนเองให้มากขึ้น ทั้งนี้จะให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 78 ที่กำหนดว่า
    รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัด ที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของแผนปฎิบัติการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเผชิญปัญหาวิกฤติ และได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณจาก CERCAP (The Support of the Community Empowerment for Response to Crisis Action Plan) จึงให้คณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติดำเนินการเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจดังกล่าว โดยให้ส่วนราชการต่างๆ ให้เสนอโครงการเพื่อวางนโยบายในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

ในการดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติให้หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน และ สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏร่วมดำเนินงาน โดยแบ่งความรับผิดชอบและร่วมประสานงาน คือ
    1. กรมการปกครอง รับผิดชอบในการสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับจังหวัด อำเภอ และ การเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร ภาครัฐ ในระดับตำบล หมู่บ้าน คือองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

    2. กรมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบในการเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มแกนระดับตำบล องค์กรชุมชนในระดับตำบล หมู่บ้าน สร้างและพัฒนาเครือข่ายระหว่างหมู่บ้าน ตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เวทีประชาคมในการระดมความคิดเห็น

    3. สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ รับผิดชอบในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในวงกว้าง เพื่อส่งผลให้ชุมชนสามารถสั่งสมทรัพยากร ข้อมูลข่าวสารของท้องถิ่น และนำมาใช้ในการพัฒนาตนเอง และมีพลังต่อรองในการดำเนินชีวิต

ทั้ง 3 หน่วยงานได้ประชุมวางแผนงานให้ดำเนินการจัดทำ โครงการพัฒนารูปแบบแนวความคิดของศูนย์ข้อมูลข่าวสารแบบเบ็ดเสร็จ ของตำบล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยใช้หลักการตามทฤษฏีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว ซึ่งเป็นพระราชดำริที่มีความยิ่งใหญ่ทางความคิด 9 ประการ คือ
    1. มีความหลากหลาย(Multiple, Diverse)
    2.ร่วมนำ (Co-existing)
    3.คิด-ทำ (Thinking - Doing)
    4. เรียบง่าย (Simple)
    5. ผสานทุกส่วน (Intergrating)
    6. ควรแก่สถานการณ์ (Timely)
    7. องค์รวมรอบด้าน (Holistic)
    8. บันดาลใจ (Inspiring)
    9. ไม่ใฝ่อุดมการณ์ เป็นสากล (Universal)

ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักในความสำคัญของการมีศูนย์ข้อมูล เพื่อ
    1. พัฒนารูปแบบความคิดของศูนย์ข้อมูลข่าวสารแบบเบ็ดเสร็จของตำบลที่ต้องการ
    2. ให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของข้อมูล มีส่วนร่วมในการจัดเก็บข้อมูล และสามารถ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการใช้ประโยชน์ได้
    3. สร้างความรู้ ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบท ในการวางแผนพัฒนาตำบล แก้ไขปัญหาของชุมชน

ในการเลือกพื้นที่ดำเนินการ ในขั้นแรกให้คัดเลือกจากจังหวัดที่ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายของศูนย์การเรียนรู้ RLN (Regional Learning Network) ตามนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จำนวน 13 จังหวัด จังหวัดละ 1 ตำบล คือ
    1. ตำบลโคกกรวด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
    2. ตำบลวังจุฬา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    3. ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
    4. ตำบลหนองเหล่า อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
    5. ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
    6. ตำบลดงเมือง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม
    7. ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
    8. ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
    9. ตำบลสันทรายงาม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
    10. ตำบลบ้านหาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
    11. ตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
    12. ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
    13. ตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

ต่อมา ในปีงบประมาณ 2544 สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ได้จัดประชุมสัมมนา เชิงปฏิบัติการเพื่อวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูล และการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลเพื่อชุมชน ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการจัดดำเนินการศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในแต่ละสถาบันราชภัฏ เพื่อสืบเนื่องความร่วมมือกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ได้ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน และกรมการปกครอง ที่ประชุมรับหลักวิธีการดำเนินการจัดทำศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น โดยนำฐานข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช 2 ค) ฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (จปฐ) และ ฐานข้อมูลท้องถิ่น ที่ดำเนินการโดยสำนักวิทยบริการในสถาบันราชภัฏแต่ละแห่ง มาพัฒนาเป็นสารสนเทศผ่าน website ของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ และ สถาบันราชภัฏทุกแห่ง

เอกสารอ้างอิง

    สภาสถาบันราชภัฏ,สำนักงาน กรมการปกครอง และ กรมการพัฒนาชุมชน.
      2543. รูปแบบของศูนย์ข้อมูลข่าวสารแบบเบ็ดเสร็จของตำบล. กรุงเทพ
      มหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. หน้า 2-5


หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 14 มิถุนายน 2550
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com