1631303 บริการอ้างอิงและสารสนเทศ
Reference and Information Services

ภาคปลาย ปีการศึกษา 2543
3 (2-2)

บทบาทของบรรณารักษ์ต่องานบริการสารสนเทศ

ข้อสรุปจากกลุ่ม 1

ปัจจุบันสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสารสนเทศ มีผู้ต้องการใช้สารสนเทศในด้านต่าง ๆทุกวินาทีและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้การบริการสารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ฉะนั้นบทบาทของบรรณารักษ์ย่อม เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากผู้ใช้มีความคาดหวังว่าบรรณารักษ์จะต้องมีความรู้ ในทรัพยากรสารนิเทศเป็นอย่างดีสามารถใช้เครื่องมือช่วยค้นทรัพยากรสารนิเทศ ฉะนั้นบรรณารักษ์ควรมีการพัฒนาตนเองต้องรู้จักแสวงหาสารสนเทศที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ มีความถูกต้องไว้บริการ ที่สำคัญควรรู้จักใช้แนวคิดกลยุทธ์การตลาด มาใช้ในการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและตรวจสอบ สถานการณ์ของศูนย์สารสนเทศเพื่อกำหนดให้ได้ว่าทรัพยากรสารสนเทศประเภทใดหรือ บริการใดที่ผู้ใช้ต้องการนำเอาความต้องการของผู้ใช้มาหากรรมวิธีที่จะจัดการกับทรัพยากร สารสนเทศและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้และเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ และที่สำคัญที่สุด บรรณารักษ์ต้องเข้าใจองค์ประกอบในขบวนการให้บริการสารสนเทศ ได้แก่

    - มีความรู้ ในบริการทรัพยากรสารนิเทศเป็นอย่างดี สามารถใช้เครื่องมือช่วยค้น ทรัพยากรสารนิเทศและเข้าใจระบบสารนิเทศ นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในปัญหาในการใช้สารสนเทศของผู้รับบริการ
    - มีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการ มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
    - มีทักษะในการให้บริการสามารถนำความรู้และทัศนคติมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการ สารนิเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
    - มีความน่าเชื่อถือ งานบริการที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องมีการจัดบริการอย่าง สม่ำเสมอโดยจัดเตรียม ทรัพยากรสารนิเทศให้พร้อมที่จะให้บริการกับผู้ใช้ทุกเมื่อ

ผู้รายงาน
วิราม สุภัทรเกียรติ รหัสนักศึกษา 430094020
น้ำผึ้ง พุ่มพวง รหัสนักศึกษา 430094024

ข้อสรุปจากกลุ่ม 2

สภาพของสังคมสารสนเทศและความต้องการข้อมูลของผู้บริโภคข้อมูล

ปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกกันว่า สังคมสารสนเทศ (Information Society) หรือที่เรียกกันว่าสังคมที่สาม หรือคลื่นลูกที่สาม ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากสังคมเกษตรกรรม และสังคมอุตสาหกรรม จนกลายเป็นยุคโลกภิวัฒน์ ทำให้การดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทุกประเทศทุกชนชาติรวมตัวกันเสมือนหนึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวกัน หรือเรียกว่าหมู่บ้านโลก โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เนต ที่เป็นที่นิยมกันอยู่างสูงในปัจจุบัน ทำให้เกิดโลกใหม่ที่เรียกว่า โลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของโลกที่อยู่ในรูปของดิจิตอล ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลทางไฟฟ้าในรูป ของบิท และไบท์ ที่สัมผัสได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศแตกต่างไปจากโลกของมนุษย์

การพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการปรับปรุงเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์กับงานสารสนเทศ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ทุกวงการวิชาชีพต้องหันมาปรับปรุงกลไกในวิชาชีพของตนให้ทันต่อสังคมสารสนเทศ เพื่อให้ทันต่อกระแสโลก ยกตัวอย่างเช่น การถอนเงินอัตโนมัติ การศึกษาทางไกล ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ เป็นต้น ทำให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้น ในขณะที่ราคาเครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว ลดลงกว่าเดิมทำให้สังคมได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล (Information age) ประเทศที่เจริญทางอุตสาหกรรมในยุโรป ตลอดจนประเทศในอุตสาหกรรม เกิดใหม่ จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

องค์กรทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ต่างก็หันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างจริงจังและมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือช่วยสร้างระบบ สารสนเทศในหน่วยงานของตน เนื่องจากตระหนักดีว่า สารสนเทศมีบทบาทในการทำกิจกรรมแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา หรือการตัดสินใจ เพื่อการวางแผนและการจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้ได้สารสนเทศอย่างรวดเร็ว ถูกต้องเชื่อถือได้ทันต่อเวลา มีเนื้อหาและรูปแบบที่ต้องการ

สำหรับวงการธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแข่งขัน เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องรู้ ข้อมูลภาวะของตลาดและสินค้า เพื่อความเป็นอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ด้านการธนาคารและการเงินมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระบบ ฝกถอนอัตโนมัติ ในด้านอุตสาหกรรม ใช้ช่วยระบบควบคุมการออกแบบ ควบคุมการผลิต ในด้านธุรกิจการบิน การโรงแรม การท่องเที่ยว ใช้กับระบบการสำรองที่นั่ง ระบบจราจรทางอากาศ ในการบริหารสำนักงานก็เช่นเดียวกัน ได้มีการตื่นตัวใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันมากขึ้น ที่เรียกว่า ระบบสำนักงานอัตโนมัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ในระบบสำนักงานอัตโนมัติ มีหลายประเภท เช่น ไมโครคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคำสั่งงานต่าง ๆ โทรสาร โทรศัพท์ และอื่น ๆ นอกจากนี้ ในชีวิตประจำวัน ในครอบครัว หรือในบ้าน ก็มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันมากขึ้น เช่น โทรศัพท์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วีดิโอเท็กซ์ ไมโครคอมพิวเตอร์

เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มมากยิ่งในอนาคตเนื่องจากความต้องการข้อมูลของผู้บริโภคมีมากขึ้น เพราะการใช้คอมพิวเตอร์ จะใช้ง่ายขึ้นมีอุปกรณ์ อำนวยความสะดวกมากมาย มีโปรแกรมช่วยในการทำงาน ช่วยสร้างข้อมูล สร้างภาพกราฟิก โดยเฉพาะปัจจุบันได้มีการพัฒนาอุปกรณ์หลายสื่อ (Multimedia) ให้สามารถใช้เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงทำให้เครื่องสามารถที่จะทำงานได้หลายประเภท ทั้งงานประมวลผล ทั้งงานประมวลผล การทำงานกราฟิก

ในสังคมโลกปัจจุบันนี้ ที่เราเรียกว่า ยุคของข้อมูลข่าวสาร หรือที่เราเรียกว่ากันย่อ ๆ ว่า ไอที (Information Technology : IT) ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราต่างก็ ต้องการสารสนเทศเพื่อการดำรงชีวิต ความต้องการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นมาจากภายในตัวมนุษย์เอง เช่น ความต้องการปัจจัยสำหรับการดำเนินชีวิต ความต้องการใฝ่รู้และอีกสาเหตุ หนึ่ง ก็อาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกนั้นก็คือ สิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม เช่น การทำงาน การอ่านหนังสือ หรือการดูสื่อโฆษณา เป็นต้น

และในยุคสังคมปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีต่าง ๆ ทางด้านสารสนเทศได้มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ สามารถใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อที่จะรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้เราเป็นคนที่มีความ รู้ทันเหตุการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

รายชื่อกลุ่ม
นางชุลีพร ฤทธิ์เดชา รหัส 430094006
นางสาวมนนุกูล ทิมอ่ำ รหัส 430094016
นางสาวอัจฉรา เทวาฤทธิ์ รหัส 430094015

ข้อสรุปจากกลุ่ม 3

สภาพของข้อมูลที่ให้บริการ

การจัดแบ่งข้อมูลตามลักษณะของสิ่งพิมพ์สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. วรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary source) หมายถึง วรรณกรรมหรือสิ่งพิมพ์ที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน นับเป็นเอกสารที่มีความสำคัญและมีประโยชน์สำหรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างยิ่ง สิ่งพิมพ์ปฐมภูมิ ได้แก่

1.1 วารสารวิจัย (Periodicals) : - สิ่งพิมพ์ที่รวบรวมบทความวิจัย ซึ่งเป็นบทความที่เสนอผลงานวิจัยใหม่ ๆ

1.2 รายงานทางเทคนิค (Technical report) : - รายงานที่เสนอความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เป็นรายงานเฉพาะเรื่องหรือภายในโครงการ

1.3 รายงานการวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research report และ Thesis หรือ Dissertation) รายงานการวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยนักวิชาการ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก

1.4 รายงานการประชุมทางวิชาการ (Conference/Symposiam และ Proceeding) : - เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอในที่ประชุมทางวิชาการ

1.5 สิทธิบัตร (Patents) : - เป็นเอกสารที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด

1.6 เอกสารมาตรฐาน (Standards) : - เอกสารระบุข้อกำหนดรายการอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเกี่ยวกับจำพวกรูปแบบ ขนาด คุณภาพ ฯลฯ

2. วรรณกรรมทุติยภูมิ (Secondary sources) หรือวรรณกรรมอันดับสอง หมายถึง สิ่งพิมพ์หรือเอกสารที่นำเอาเรื่องราวจากวรรณกรรมปฐมภูมิมาเรียบเรียงเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นคว้า ข้อมูลเนื้อหาในวรรณกรรมทุติยภูมิไม่ใช่สิ่งที่ค้นพบใหม่ อาจจะเป็นสิ่งพิมพ์วิจารณ์ การค้นคว้า ทดลอง การวิจัย หรือบทวิจารณ์ความก้าวหน้าในสาขาใดสาขาหนึ่ง สิ่งพิมพ์ทุติยภูมิ ได้แก่

2.1 วารสารปริทัศน์ (Review Journals) : - เป็นการรวบรวมผลงานจากวรรณกรรมปฐมภูมิมาอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาและแนวโน้มของเรื่องต่าง ๆ ลักษณะบทความปริทัศน์มี 3 ประเภท ได้แก่

2.1.1. บทความปริทัศน์ที่คลอบคลุมเนื้อหาในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง

2.1.2. บทความปริทัศน์ที่คลอบคลุมเนื้อหาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และเขียนเจาะลึกในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งการอ่านบทความลักษณะนี้ผู้อ่านจะต้องมีภูมิหลังในเรื่องนั้นพอสมควร

2.1.3. บทความปริทัศน์ที่เขียนโดยผ้เชี่ยวชาญในสาขา ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมักจะเน้นที่ความเห็นของผ้เขียนเป็นหลัก

2.2 ดรรชนีวารสารและวารสารสาระสังเขป (Indexing and Abstracting Journals) : - เพื่อสืบค้นเอกสารปฐมภูมิ ดรรชนีวารสารเป็นเครื่องมือช่วยค้นบทความจากวารสาร ส่วนวารสารสาระสังเขป เป็นวารสารที่รวบรวมบทความที่มีการจัดทำสาระสังเขป ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งพิมพ์ทุติยภูมิที่มีความสำคัญมากในการศึกษาวิจัย

2.3 หนังสือวิชาการทั่วไป (Gerneral Books) : - อาจจะเป็นหนังสือตำราชุด หรือหนังสือเฉพาะเรื่องก็ได้ หนังสือวิชาการส่วนใหญ่จะมีการอ้างอิงจากเอกสารขั้นต้นหรือเอกสารขั้นสอง

2.4 สิ่งพิมพ์แจ้งล่วงหน้า (Alerting Service) : - สาเหตุที่ต้องมีการจัดพิมพ์แจ้งล่วงหน้าเนื่องจากบทความที่จะดำเนินการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นดรรชนีได้นั้น ต้องใช้เวลานาน

2.5 หนังสืออ้างอิง (Reference Books) : - หนังสือที่มีการเรียบเรียงเนื้อหาในลักษณะพิเศษ มุ่งให้ผู้ใช้ค้นหาเรื่องที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

3. วรรณกรรมตติยภูมิ (Tertiary sources) : - สิ่งพิมพ์ที่เป็นเครื่องมือช่วยค้น วรรณกรรมปฐมภูมิและวรรณกรรมทุติยภูมิ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเอกสารลำดับสาม (third level of information) ได้แก่ เอกสารแนะนำสิ่งพิมพ์ บรรณานุกรม หนังสือชีวประวัติและนามานุกรมหรือทำเนียบนาม

นอกจากนี้ข้อมูลประเภทสิ่งพิมพ์แล้ว สารนิเทศยังสามารถบันทึกอย่ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก็ถือว่ามีความสำคัญในการศึกษาค้นคว้าเช่นกัน ได้แก่ โสตทัศนวัสดุปรเภทต่าง ๆ แบ่งได้ดังนี้

1. ทัศนวัสดุ (Visual materials) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูเป็นหลัก ได้แก่ รูปภาพ แผนภูมิ กราฟ แผนที่ หุ่นจำลอง ของตัวอย่าง ของจริง ภาพนิ่ง ภาพโปร่งใส ภาพทึบแสง ภาพเลื่อนหรือฟิลม์สตริป วัสดุย่อส่วน (ไมโครฟิลม์, ไมโครฟิช, ไมโครการ์ด)

2. โสตวัสดุ (Audio materials) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้การฟังเป็นหลัก ได้แก่ แผ่นเสียง เทปบันทึกเสียง

3. โสตทัศนวัสดุ (Audio-Visual materials) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถดูและฟังไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ ภาพยนตร์ วิดีทัศน์ เครื่องรับโทรทัศน์

รายชื่อผู้จัดทำ : -

นางสาววรุณรัตน์ คนซื่อ รหัสนักศึกษา 430094005

นางสาววรพร ฉิมพลีศิริ รหัสนักศึกษา 430094014

หน้าสารบัญ