1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

บริการยืมระหว่างห้องสมุด (Interlibrary Loan Services)

การให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด เป็นการช่วยให้ผู้ใช้สารนิเทศได้รับสารนิเทศที่ต้องการจากห้องสมุดหรือศูนย์สารนิเทศอื่นๆ เป็นการช่วยให้ผู้ใช้สารนิเทศได้ยืมวัสดุที่ห้องสมุดไม่มี ดังความหมายของบริการการยืมระหว่างห้องสมุด กล่าวว่า การยืมหนังสือ ระหว่างห้องสมุดเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งซึ่งห้องสมุดแห่งหนึ่งขอยืมหนังสือหรือวัสดุการอ่านโดยทางอ้อมให้แก่บุคคลหนึ่งจากห้องสมุด อีกแห่งหนึ่ง เป็นการขยายบริการยืมหนังสือหรือวัสดุการอ่านโดยทางอ้อมให้แก่บุคคลหนึ่งจากห้องสมุดแห่งหนึ่ง เป็นการขยายบริการยืมหนังสือ หรือวัสดุการอ่านของห้องสมุดจากห้องสมุดอื่น ๆ ที่มีวัสดุการอ่านที่ผู้ใช้ห้องสมุดต้องการ แต่ห้องสมุดนั้นไม่มี (เต็มใจ สุวรรณทัต 2520 : 84) การให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด จึงเท่ากับเป็นการให้บริการขอสารนิเทศ โดยไม่มีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงสารนิเทศในห้องสมุดต่าง ๆ

บริการยืมระหว่างห้องสมุด จึงเป็นพัฒนาการของการให้บริการสารนิเทศที่กว้างขวาง ก่อให้เกิดพัฒนาการในการให้ความร่วมมือ ในการดำเนินงานของห้องสมุดต่าง ๆ ห้องสมุดที่มีการติดต่อเชื่อมโยงสารนิเทศเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนใหญ่ ได่แก่ ห้องสมุดมหาวิทยาลับและห้องสมุดประชาชน

บริการยืมหนังสือระหว่างห้องสมุด มีประวัติพัฒนาการมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มต้นจากห้องสมุดสองสามแห่ง ในสองสามประเทศ ในทวีปยุโรป มีการจัดทำสหบัตรเพื่อค้นสารนิเทศร่วมกัน หลังจากนั้นจึงแพร่แนวความคิด ในการให้บริการยืมหนังสือระหว่างห้องสมุดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นบริการยืมหนังสือระหว่างประเทศ โดยสหพันธ์สากลแห่งสมาคมห้องสมุดและสถาบันได้วางกฎและระเบียบวิธีการในการยืมหนังสือระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยในระเบียบวิธีการดังกล่าว ได้พยายามกระตุ้น และเร่งเร้าให้ทุกประเทศพัฒนาในเรื่องการทำสหบัตร ระหว่างประเทศ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัมนธรรมแห่งสหประชาชาติได้จัดพิมพ์คู่มือบรรณานุกรม สหบัตร มีการแนะนำ แนวทางการจัดทำสหบัตร ตลอดจนแนะนำศูนย์การยืมหนังสือระหว่างประเทศ ทำให้การยืมหนังสือระหว่างประเทศ เผยแพร่ไปทั่วโลก (เต็มใจ สุวรรณทัต 2520 : 85-87) และ เกิดความร่วมมือในการให้บริการการยืมระหว่างห้องสมุดด้วยดี

ในประเทศไทยมีการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุดในห้องสมุดระดับมหาวิทยาลัย มีการกำหนดรูปแบบการให้บริการยืมร่วมกัน ผู้ใช้สารนิเทศสามารถค้นสารนิเทศจากสหบัตรที่จัดทำร่วมกันและใช้ข้อมุลที่ปรากฏว่าจัดเก็บที่ห้องสมุดใดก็สามารถดำเนินการติดต่อขอ บริการการยืมระหว่างห้องสมุด ใช้ระบบทำงานด้วยมือ ด้วยการติดต่อทางโทรศัพท์และไปรษณีย์ และจากพัฒนาการของระบบห้องสมุด ในปัจจุบันทำให้สามารถบริการได้จากระบบโทรพิมพ์ และระบบคอมพิวเตอร์

สถาบันบริการสารนิเทศที่สำคัญของประเทศ คือ หอสมุดแห่งชาติ มีสภาพความเหมาะสมที่สุดต่อการเป็นศูนย์กลางแห่งชาติ ในการให้บริการยืมทั่วไปในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ (คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต 2530 : 161) ทำหน้าที่ขอยืม ให้ยืม เก็บสถิติการยืมระหว่างประเทศ และมีบทบาทในการประสานงานและวางแผนควบคุมการยืมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การมีบริการยืมระหว่างห้องสมุด จะเป็นวิธีการใช้สารนิเทศร่วมกันไม่ว่าผู้ใช้สารนิเทศจะอยู่ที่ใด จึงควรมีศูนย์กลางการประสานงาน ในระหว่างห้องสมุด ศูนย์สารนิเทศ และหน่วยงานอื่นๆ โดยประสานงานกับหอสมุดแห่งชาติ จะได้เกิดโอกาสในการใช้ ทรัพยากรสารนิเทศในสังคมสารนิเทศได้อย่างเต็มที่

หน้าสารบัญ